Sunday, November 24, 2013

เผด็จการศาลรัฐธรรมนูญ?

คุณ "เก่งกาจ" เขียนอีเมลมาคุย ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจแต่ค่อนข้างยาวและเกี่ยวกับการเมืองไทย ผมจึงขอนำมาลงในบล็อกแทนที่จะลงในคอลัมน์ ส่วนคำตอบของผมในส่วนที่เกี่ยวข้องลงในคอลัมน์ตามปกติครับ

อยากทราบว่าคำว่าเผด็จการศาลรัฐธรรมนูญภาษาอังกฤษใช้คำว่าอะไรครับ ตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินไปเรียบร้อยแล้ว โดยมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญทั้ง ๆ ที่ตัวเองอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ กฎหมายให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ไม่ได้ให้อำนาจในการพิจารณาว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะต้องขัดอยู่แล้วไม่อย่างนั้นคงไม่เรียกว่าการแก้ไข ถ้าเพิ่มอำนาจให้ตัวเองอย่างนี้ก็เท่ากับว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลยถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่อนุญาต

ช่วงนี้มีคนพูดถึงเผด็จการรัฐสภาบ่อย ๆ น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดและความไม่รู้ ตามความเข้าใจของผมเผด็จการหมายถึงการที่มีอำนาจสูงสุด ใช้อำนาจอย่างไรก็ได้โดยไม่ต้องสนใจกฎหมายและความเห็นของคนส่วนใหญ่ อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ทำมาและคงจะทำต่อไปเรื่อย ๆ

ตัวอย่างเช่น ถ้ามีกลุ่มคน 10 คน หัวหน้ากลุ่มต้องการดำเนินการบางอย่างแต่สมาชิกอีก 9 คน ไม่เห็นด้วย แต่หัวหน้ากลุ่มใช้อำนาจสั่งการให้ดำเนินการ บังคับให้ทุกคนต้องทำตามคำสั่งหรือยอมรับคำสั่ง อย่างนี้คือเผด็จการ แต่ถ้าในกลุ่มมีคน 7 คนเห็นด้วย แต่อีก 3 คนไม่เห็นด้วย แล้วตัดสินใจดำเนินการตามเสียงข้างมากอย่างนี้ไม่ใช่เผด็จการแต่อย่างใด เป็นหลักตัดสินใจโดยใช้เสียงส่วนใหญ่ ซึ่ง 3 คนที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมหรือไม่ต้องยอมรับก็ได้ ไม่ได้บังคับ
สำหรับเผด็จการรัฐสภาจะเป็นเผด็จการก็ต่อเมื่อสมาชิกไม่ได้มาจากประชาชน เช่น ส.ว. แต่งตั้งก็เป็นส่วนหนึ่งของการที่จะทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภาได้ แต่ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งมาจากประชนชนและใช้อำนาจแทนประชาชนอยู่แล้ว ผมไม่รู้ว่าจะเป็นเผด็จการได้อย่างไร บางคนไปเปรียบเทียบกับฮิตเลอร์ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความไม่รู้และไม่เข้าใจ การที่ฮิตเลอร์มีอำนาจสูงสุดเพราะการผ่านกฎหมาย Enabling Act ทำให้ฮิตเลอร์มีอำนาจเหนือรัฐสภา
ถ้าคุณบ๊อบมีเวลาช่วยอธิบายเรื่องนี้หน่อยได้ไหมครับ เพราะมีคนที่เข้าใจผิดอยู่มาก ขอบคุณครับ


No comments: