Thursday, July 19, 2007

ทางสองแพร่ง

ธงชัย วินิจจกุล เป็นนักประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยวิสกอนซิน วิทยาเขตแมดิสัน เป็นผู้รู้ลึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และสังคมไทยคนหนึ่ง และที่สำคัญคือกล้ามองในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้ามอง กล้าคิดในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้าคิด ดังนั้นความเห็นของเขาจึงน่าสนใจยิ่ง และมีความหมายสำหรับคนไทยทุกคนที่ค้นหาความจริง

http://www.bangkokbiznews.com/2007/07/17/WW12_1208_news.php?newsid=84391

โจทย์ที่แท้จริงของการลงประชามติและทางเลือก
17 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 07:00:00

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :

1.เดินไปไหน?

คนส่วนใหญ่คงกำลังเบื่อการเมืองจนสุดจะทน และคงอยากไปให้พ้นความขัดแย้งที่น่าอึดอัดเสียที

โฆษณาอื้อฉาวของ ส.ส.ร. เป็นการหากินกับความเบื่อหน่ายของประชาชน คือ พยายามสื่อสารว่า "รับซะจะได้เดินหน้าสู่ภาวะปกติ (คือ มีการเลือกตั้ง) ซะที"

แม้แต่ปรมาจารย์ทางรัฐศาสตร์ยังบอกว่า จะลงมติรับรัฐธรรมนูญของ คมช. ทั้งๆ ที่เห็นว่า เนื้อหาถอยหลัง แต่เพราะอยากไปให้พ้นความน่าอึดอัด อยากเดินหน้าซะที

ปัญหามีอยู่ว่า จะเดินไปทางไหน? การลงมติรับจะไปพ้นความขัดแย้งที่น่าอึดอัดได้จริงหรือ?

หลายคนเคยต้อนรับการรัฐประหาร 19 กันยา เพราะเชื่อว่าจะได้พ้นไปจากความตึงเครียดของวิกฤติการเมืองเสียที กว่าปีที่ผ่านมา คงประจักษ์แล้วว่า ความขัดแย้งตึงเครียดมิได้หมดไป อาจแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ

ข้อที่ว่าต้องการเดินหน้านั้นก็มีปัญหาว่า เรากำลังหันหน้าไปถูกทางหรือเปล่า หรือกำลังหันกลับไปหายุคทหารครองเมือง เพราะหากเรากำลังหันหลังให้ประชาธิปไตยอยู่ ยิ่งเดินหน้าคือยิ่งผิดทาง

สิ่งที่ควรทำอันดับแรกคือ หันหน้าให้ถูกทางเสียก่อน

2.จำยอมถอยหลัง?

ความเสียหายใหญ่หลวงนับจาก 19 กันยาปีก่อน ไม่ได้อยู่ที่ความหน่อมแน้มของรัฐบาล แต่การรัฐประหารและกฎหมายต่างๆ ที่พยายามสถาปนาระบอบทหารนั่นแหละคือความเสียหายที่สุด

คนที่หวังว่ารัฐประหารจะเป็นการกดปุ่มเริ่มประชาธิปไตยกันใหม่นั้น คงเห็นอยู่ตำตาว่า ประชาธิปไตยกำลังผลิบานหรือการเมืองไทยกลับถอยกรูดสู่ยุคทหารครองเมืองกันแน่

พ.ร.บ. ความมั่นคงที่ให้อำนาจล้นฟ้าแก่กองทัพ จะผลักการเมืองไทยย้อนหลังไปอย่างน้อยๆ 30 ปี รัฐธรรมนูญ คมช.ไม่ไว้ใจประชาชน แต่กลับฝากความหวังสุดๆ ไว้กับตุลาการและวุฒิสภาแต่งตั้งภายใต้ระบบการปกครองที่มีทหารคุมอยู่ทุกจุด การรื้อฟื้นอำนาจอำมาตยาธิปไตยท้องถิ่น การเพิ่มงบลับงบเปิดให้กองทัพมหาศาลเหมือนยุคเผด็จการแต่ก่อน การใช้อำนาจบาตรใหญ่ของทหารรังแกประชาชน เช่น กรณีปิดเขื่อนปากมูล และอื่นๆ อีกมากมาย

ทั้งหมดนี้ เป็นการถอยกรูดกลับไปหายุคทหารครองเมืองชัดเจน ไม่มีทางปฏิเสธได้ และอาจต้องสู้กันอีกหลายชีวิตกว่าจะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ การลงมติรับเพื่อเดินหน้าในขณะนี้ จึงเป็นการยอมจำนนว่า ยุคทหารครองเมืองคือการถอยหลังที่เราต้องยอมรับอย่างสงบเสงี่ยม

3.รัฐธรรมนูญ คมช.จะพาประเทศไทยไปทางไหน?

รัฐธรรมนูญของ คมช. เป็นการสถาปนาระบอบทหารหรืออำมาตยาธิปไตย ที่ไม่ให้โอกาสแก่สังคมประชาธิปไตยได้เรียนรู้ปรับตัวแก้ปัญหาตามกระบวนการ ไม่ไว้ใจประชาชนแต่กลับเชื่อถือให้อำนาจแก่อภิชน ขุนนางข้าราชการผู้ใหญ่ เป็น GUIDED DEMOCRACY แบบหนึ่ง ซึ่งก่อความเสียหายมหาศาลมาแล้วในหลายประเทศ

ระบอบการเมืองถอยหลังแบบนี้ จะส่งผลต่อประเทศชาติในระยะยาวอย่างไร?

ผู้เขียนมีข้อคาดการณ์เพื่อการถกเถียงว่า ระบบการเมืองย้อนยุคเช่นนี้ อาจทำให้ไทยอยู่ในภาวะคล้ายฟิลิปปินส์ กล่าวคือ ตกต่ำจากที่เคยเป็นดาวรุ่งแห่งเอเชีย ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง กลายเป็นแค่ประชาธิปไตยปลอมๆ ในอุ้งมือทหาร การแมืองจะทุลักทุเลไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง จนเป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจลุ่มๆ ดอนๆ

เพราะอำมาตยาธิปไตยไม่สามารถรับมือกับความซับซ้อนผันแปรของสังคมสมัยนี้ที่เต็มไปด้วยความคิดและผลประโยชน์ต่างๆ กันมหาศาลได้ เพราะผู้นำทหาร อภิชน ขุนนางราชการผู้ใหญ่หลงตนเองว่า สูงส่งรู้รอบกว่าประชาชนและติดอยู่กับความคิดว่าประเทศชาติ คือครอบครัวขนาดใหญ่ที่พวกเขาต้องดูแลแบบพ่อบ้าน

ระบอบการเมืองนี้ยังเป็นบ่อเกิดของคอร์รัปชันขนานใหญ่ และการใช้อำนาจฉ้อฉลอย่างฝังราก เพราะใช้ความกลัวบวกบารมีปกครองจนประชาชนและสื่อมวลชนยอมจำนน ปิดปากต่อความฉ้อฉลของขุนนางและอภิชนน้อยใหญ่ทั้งหลาย

ต่างกับนักการเมืองซึ่งประชาชนและสื่อมวลชนจ้องตรวจสอบได้เสมอ ไม่ว่าจะเกลียดแค่ไหนก็ตาม

ที่สำคัญที่สุด และไม่กล้าพูดถึงกัน ทั้งๆ ที่ซุบซิบกันทุกวี่วันก็คือ ความผันผวนในสังคมไทยกำลังมาถึงแน่ๆ ไม่ช้าก็เร็ว เพราะไม่มีใครฝืนธรรมชาติได้ ในภาวะเช่นนั้นทหาร อภิชน ขุนนาง และหางเครื่องทั้งหลายจะยิ่งเถลิงอำนาจด้วยข้ออ้างความมั่นคง ซึ่งจะยิ่งฉุดการเมืองไทยให้จมปลักลงไปอีก

ระบบการเมืองล้าหลังเช่นนั้น จะเผชิญวิกฤติครั้งใหญ่ไม่ช้าก็เร็ว เพราะเป็นระบบการเมืองที่ฝืนการเปลี่ยนแปลง ความผันผวนไม่แน่นอนจะสะสมรอการระเบิด

ระบบการเมืองล้าหลังบวกความผันผวนไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง คือสูตรของความตกต่ำครั้งใหญ่

ดังนั้น ยิ่งปล่อยให้อภิชนอำมาตยาธิปไตยอยู่ในอำนาจนานเท่าไร จะยิ่งกลายเป็นระเบิดเวลาในอนาคต

การเดินหน้าขอเพียงให้พ้นความอึดอัดแบบปัจจุบัน จึงเป็นแค่การซื้อเวลาชั่วคราวเท่านั้นเอง

หากมองจากอนาคตย้อนเวลามาถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์จะพิสูจน์ว่า การถอยหลังถลำลึกคราวนี้ เป็นก้าวผิดพลาดครั้งใหญ่หลวงของสังคมไทย

4.โจทย์ที่แท้จริงของการลงประชามติ

มีหลายคนออกมาตำหนิฝ่ายปฏิเสธรัฐธรรมนูญ คมช. ว่าไม่ทันดูเนื้อหาก็ปฏิเสธซะก่อนแล้ว

ท่านเหล่านี้มีสติปัญญาพอที่จะรู้อยู่ว่า ข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ใช่สาเหตุของการยึดอำนาจ จึงไม่จำเป็นต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่เลย แต่ต้องร่างใหม่ตามธรรมเนียมให้ดูเหมือนว่า คมช.ต้องการประชาธิปไตย

สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ คมช. ก็ไม่ได้ดีไปกว่าเดิม อ.เสน่ห์ จามริก ยังยอมรับว่าถอยหลังกว่าเดิม แถมยังไม่ได้เป็นหลักประกันอะไรต่ออนาคตของประชาธิปไตยไทยเลยสักนิด แม้แต่ผู้หนุน คมช. อย่าง อ.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ก็ยังยอมรับว่า การรัฐประหารคงมีอีก และอำนาจทหารคงอยู่ไปอีกนาน

ประเด็นสำคัญขณะนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่เนื้อหารายละเอียดของรัฐธรรมนูญอย่างที่คมช. พยายามตีกรอบ

โจทย์ที่แท้จริงคือ คำถามว่าจะเอายังไงกับอำนาจทหาร อภิชน อำมาตยาธิปไตยในการเมืองไทย

ผู้คนที่เบื่อหน่ายกับการเมืองอยู่ในขณะนี้ คงไม่ได้ตัดสินใจรับหรือไม่รับ เพราะรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ ต่อให้เนื้อหาถอยหลังกว่าเดิมก็อาจจะรับ หากเขาเชื่อว่าเป็นหนทางออกไปให้พ้นภาวะอึดอัดในปัจจุบัน

คนที่หนุน คมช. และเกลียดทักษิณมาก จะลงมติรับโดยไม่ได้สนใจรายละเอียดของรัฐธรรมนูญเช่นกัน เพราะสิ่งที่คนพวกนี้ต้องการ คือการยืนยันว่า รัฐประหารที่ตนสนับสนุนเป็นสิ่งถูกต้อง ยืนยันว่าตนเองไม่ได้คิดผิดทำผิด เชียร์มาแล้วก็ต้องเชียร์ต่อไปให้ตลอดรอดฝั่ง บริกรและหางเครื่องของ คมช. ต้องเกาะระบอบทหารเพราะกลัวโดนคิดบัญชี ทั้งหมดนี้ ไม่เกี่ยวกับรายละเอียดของรัฐธรรมนูญเลย

กระทั่งฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ ส.ส.ร. เอง ก็ไม่สนใจเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญเช่นกัน

โจทย์ที่แท้จริงขณะนี้ ไม่ได้อยู่ที่รายละเอียดของรัฐธรรมนูญ คมช. แต่อยู่ที่คำถามว่า จะเอายังไงกับอำนาจทหาร อภิชน อำมาตยาธิปไตยในการเมืองไทย

เกษียร เตชะพีระ กล่าวได้ถูกต้องว่า อย่าดูเพียงแค่รายละเอียดเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ แต่ต้องดูทั้ง "แพ็คเกจ" ว่า ระบอบคมช.ได้ผลักดันกฎหมายสำคัญ เพื่อสถาปนาอำนาจยุคทหารครองเมืองอีกครั้ง การเลือกตั้ง สภาและประชาธิปไตยหลังจากนี้จะเป็นแค่ไม้ประดับ เพื่อให้ระบอบทหารครองเมืองยุคนี้ดูดีขึ้นแค่นั้นเอง

แต่ คมช.และลูกคู่บริกรทั้งหลายต้องป่าวร้อง เน้นให้ดูรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ เพราะ คมช. กลัวการที่ประชาชนจะมองเห็นโจทย์ที่แท้จริงแล้วเปลี่ยนความหมายของการลงประชามติ คมช. ต้องการตีกรอบจำกัดความหมายของการลงประชามติ ไม่ให้กลายเป็นการประท้วงระบอบทหาร

5. เปลี่ยนประชามติเป็นการต่อสู้กับระบอบทหาร

การลงประชามติที่จะมาถึงเต็มไปด้วยการขู่ขวัญทางการเมือง เช่น

"ไม่รับก็ไม่มีเลือกตั้ง ไม่รับก็ไม่กลับสู่ภาวะปกติ ถ้าไม่เอาฉบับที่อยู่ตรงหน้า ก็อาจได้ฉบับซ่อนข้างหลังที่เลวกว่า ไม่รับจะยิ่งวุ่นวาย ใครไม่รับคือพวกไม่รักชาติ"

ทั้งหมดนี้ คล้ายกับเจ้าพ่อมาเฟียยื่นข้อเสนอที่ห้ามเราปฏิเสธ ทั้งขู่ขวัญว่าหากปฏิเสธอาจเจ็บตัวและสิ่งเลวร้ายอาจเกิดกับเราก็ได้

แถมยังเป็นการลงประชามติโดยที่กว่าครึ่งประเทศยังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งทหารคุมหมดทุกอย่าง

นี่มันประชามติแบบมาเฟียชัดๆ ไม่กล้าพอแม้แต่จะสู้กันอย่างแฟร์ๆ

ทำราวกับประชาชนเป็นคนในบังคับเจ้าพ่อ หรือเป็นนักโทษในประเทศตัวเอง โดยมีผู้คุมชื่อคมช.

แทนที่นักวิชาการหรือนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญ จะออกมาท้วงติงท่าทีแบบมาเฟียอันน่ารังเกียจเหล่านี้ หลายคนกลับออกมารับอย่างหงอๆ ว่า ควรลงมติรับเพราะไม่อยากให้แย่ไปกว่านี้

แทนที่จะตำหนิการขู่ขวัญ หลายคนกลับทำท่าวางตัวเป็นกลางระหว่างมาเฟียกับผู้ถูกรังแก พวกเขาพากันหดหัวสงบเสงี่ยมกับคำขู่ฟอดๆ ของผู้มีอำนาจ บางคนอวดเบ่งร่วมตะคอกซ้ำใส่ผู้เสียเปรียบ

แทนที่จะเรียกร้องให้เลิกขู่ ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกให้หมด และสู้กันอย่างแฟร์ๆ อย่าใช้เงินภาษีโฆษณาชวนเชื่อฝ่ายเดียว พวกเขากลัวทหารยิ่งกว่ากลัวนักการเมือง แต่ไม่กล้ายอมรับ

ประชามติแบบมาเฟียสะท้อนเป็นอย่างดีถึงอำนาจแบบมาเฟีย ที่ปกครองคนด้วยความกลัวในขณะนี้

แต่ทว่าในสถานการณ์ที่ไม่มีช่องทางอื่นมากนักในการต่อสู้กับอำนาจทหาร และไม่มีโอกาสลงประชามติว่าจะเอาระบอบทหารหรือไม่ ประชาชนกลับสามารถต่อสู้ด้วยการรณรงค์เปลี่ยนโจทย์เปลี่ยนความหมายของการลงประชามติ ช่วงชิงให้กลายเป็นการออกเสียงประท้วงปฏิเสธระบอบทหาร

รณรงค์ตรงไปตรงมาว่า ร่วมประท้วงปฏิเสธระบอบทหารด้วยเสียงไม่รับรอง ในทิศทางที่เครือข่าย 19 กันยาทำอยู่นั่นแหละ

การต่อสู้ด้วยการเปลี่ยนความหมายของการลงประชามติ คือการปฏิเสธไม่ยอมอยู่ในกรอบของคมช. จึงไม่ใช่การยอมรับหรือให้ความชอบธรรมแก่กระบวนการของคมช.แต่อย่างใด

ลูกคู่หน้าใสของคมช. กลัวการที่ประชามติกำลังถูกเปลี่ยนความหมายให้กลายเป็นการออกเสียงประท้วงปฏิเสธระบอบทหาร ถึงกับต้องออกมายุแยงว่า ถ้าค้านการรัฐประหารก็อย่ามาร่วมการลงประชามติ และพยายามตีกรอบว่าประชามติเป็นแค่เรื่องรัฐธรรมนูญ ห้ามให้ความหมายไกลกว่านั้น

ต่อให้ผลของประชามติออกมาตามคณะทหารจัดแจงไว้ล่วงหน้า ก็มิได้หมายความว่าเสียงปฏิเสธระบอบทหารเหล่านี้ ต้องเปลี่ยนความคิดหรือยอมหุบปากหรือยอมรับระบอบทหารปัจจุบันหรือหลังจากนี้ ย่อมมีสิทธิที่จะยืนยันความคิดของตนและต่อสู้ต่อไป

การจัดประชามติแบบมาเฟียทำนองนี้มีมาแล้วหลายแห่งทั่วโลก กรณีที่ประชาชนช่วงชิงเอามาเป็นการประท้วงคณะทหารจนสำเร็จก็มี อาทิเช่น ที่ชิลีในปี 1988 ซึ่งจอมเผด็จการปิโนเชต์หวังใช้ประชามติสร้างความชอบธรรมแก่การต่ออายุอำนาจของคณะทหาร ฝ่ายต่อต้านเผด็จการขัดแย้งกันในระยะแรกว่าจะร่วมลงประชามติดีหรือไม่ แต่ในที่สุด พวกเขารวมพลังสำเร็จ แม้จะถูกข่มขู่รังแกสารพัด ประชาชนชาวชิลีข้างมากลงประชามติไม่ต้องการให้คณะทหารสืบอำนาจอีกต่อไป นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการอวสานของปิโนเชต์

ประชาชนพม่าที่ลงคะแนนให้พรรค N.L.D. ของออง ซาน ซูจี เมื่อปี 1989 ก็เช่นกัน พวกเขารู้อยู่เต็มอกว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรมและแบบมาเฟีย คือคณะทหารข่มขู่ตลอดเวลาว่า หากเลือกพรรค N.L.D. พม่าจะไม่มีวันกลับคืนสู่ภาวะปกติ แต่แล้วชาวพม่าอาศัยการเลือกตั้งแบบมาเฟียนั่นเอง เป็นการออกเสียงประท้วงอำนาจเผด็จการทหาร ด้วยการเลือก N.L.D. จนชนะถล่มทลาย

6.ทางเลือก

การลงประชามติคราวนี้ถึงที่สุดคือ ท่านคิดอย่างไรกับอำนาจทหาร อภิชน อำมาตยาธิปไตยในการเมืองไทย กล่าวคือ

1) หากท่านเห็นว่า ระบอบทหาร อำมาตยาธิปไตยเหมาะสมดีกับสังคมไทยต่อไปนานๆ และ/หรือท่านเกลียดการเลือกตั้ง เกลียดนักการเมืองเข้ากระดูกดำ ท่านควรลงมติรับรัฐธรรมนูญคมช. ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของอภิชน และขุนนางข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งหลาย ผ่านทางวุฒิสภาและตุลาการทั้งหลาย

2) หากท่านเชื่อว่า อำนาจเก่าของระบอบทักษิณจะกลับมา และจะพาประเทศสู่ความวิบัติฉิบหาย แถมประชาชนไม่ฉลาดพอจะรับมือได้ ระบบการเมืองอภิชนอำมาตยาธิปไตยพอรับได้มากกว่า ท่านควรลงมติรับรัฐธรรมนูญของ คมช.

3) หากท่านไม่ชอบ แต่ไม่ถึงขนาดเกลียดกลัวทั้งระบอบทักษิณและ คมช. แต่ท่านเห็นว่าการปกครองโดยคณะทหารมาไกลพอแล้ว หากมากกว่านี้ นานกว่านี้ อาจส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติ ท่านควรส่งเสียงดังให้ คมช. รู้ว่าพอแล้ว ไปได้แล้ว ด้วยการ ลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญ คมช. และร่วมเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540

4) หากท่านปฏิเสธอำนาจเก่าคร่ำครึของระบอบทหาร อำมาตยาธิปไตย และ/หรือเห็นว่าการรัฐประหาร 19 กันยาและระบอบ คมช. เป็นความผิดพลาด ท่านควรลงมติไม่รับ ไม่ว่าท่านจะชอบหรือไม่ชอบทักษิณก็ตาม

5) หากท่านยังลังเลระหว่างอำนาจเก่าของทักษิณ กับอำนาจเก่ากว่าของระบอบทหารและข้าราชการผู้ใหญ่ การตัดสินใจของท่านขึ้นอยู่กับการประเมินของท่านว่า

- ทักษิณน่ากลัวขนาดไหน และมีโอกาสกลับมาอีกมากน้อยแค่ไหน

- ระบอบทหารและข้าราชการผู้ใหญ่ จะเป็นทางออกหรือเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยไทยกันแน่แค่ไหน ระบอบนี้กำลังมีอำนาจอยู่และมีโอกาสอยู่ต่อไปอีกนาน ท่านต้องการเช่นนั้นหรือไม่

7.ไม่รับรัฐธรรมนูญคือการปฏิเสธระบอบทหาร

การลงประชามติคราวนี้ถึงที่สุดคือ ท่านคิดอย่างไรกับระบอบทหาร อำมาตยาธิปไตยในการเมืองไทย

รับ-ไม่รับรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการออกเสียงต่อระบอบทหาร อำมาตยาธิปไตยในการเมืองไทย

เราท่านส่วนใหญ่ไม่ใช่พวกขี่หลังเสือ จนต้องกลัวโดนคิดบัญชีกลับอย่างผู้มีอำนาจใน คมช. ผู้นำพันธมิตร หรือบริกรทั้งหลายของ คมช. แต่เราท่านส่วนใหญ่คือประชาชนผู้ต้องทนอยู่กับผลกระทบของปัจจุบันไปอีกนานในอนาคต

การลงประชามติที่กำลังจะมาถึง แม้จะเป็นประชามติแบบมาเฟีย แต่ก็เป็นโอกาสที่จะต่อสู้อย่างสันติ เพื่อส่งเสียงว่าเราต้องการอนาคตแบบไหน

คิดให้รอบคอบ คิดให้ไกล และกล้าหาญ

อย่าคิดเพียงแค่ว่าการลงมติรับจะเป็นการหลุดพ้นจากความอึดอัดปัจจุบัน เพราะแท้ที่จริงเป็นแค่การซื้อเวลา เพื่อรอการระเบิดในอนาคต

อย่า "หงอ" กับท่าทีแบบมาเฟีย ที่ขู่เราว่า "ไม่รับอาจเจ็บตัว" หรือมีดาบซ่อนอยู่ข้างหลัง

ขอทุกท่านที่ไม่ต้องการระบอบทหารครองเมือง มาร่วมกันออกเสียง "ไม่รับ" เพื่อบอกทหารว่า

"กลับกรมกองเสียเถิด อย่าให้ประเทศชาติพินาศไปกว่านี้เลย"

ธงชัย วินิจจะกูล

No comments: