Tuesday, February 14, 2006

สิทธิในการแสดงออก

ช่วงนี้สังคมไทยกำลังร้อนขึ้นมาอีกครั้ง มีการปลุกกระแสทั้งที่ต่อต้านนายก ทั้งที่เชียร์นายก และประเด็นหนึ่งที่กำลังฮ็อตก็คือสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อและของประชาชน วันนี้ผมจึงขอเสนอฟอไฟฟุดฟิดฯ ตอนพิเศษเพื่อให้แง่คิดสำหรับทั้งสองฝ่าย เป็นการปรับมาจากตอนเก่าเกี่ยวกับ ACLU ลองอ่านดูนะครับ

I disapprove of what you say, but I will defend to the death your right to say it. = ฉันไม่เห็นชอบกับสิ่งที่คุณกล่าว แต่ฉันจะยอมตายเพื่อปกป้องสิทธิของคุณที่จะกล่าวมัน

ประโยคอมตะนี้ปรากฏในหนังสือ Friends of Voltaire โดย S. G. Ballentyre และเป็นคติประจำใจขององค์กร American Civil Liberties Union (ACLU) ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้ First Amendment (= บทแก้ไขข้อแรก) ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ

หลักการสำคัญที่สุดหลักหนึ่งของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ คือสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก = freedom of expression หรือ freedom of speech = สิทธิเสรีภาพในการพูด

สังคมประชาธิปไตยย่อมไม่ใช่สังคมที่เงียบสงบ เพราะทุกคนจะมีความคิดเห็นของตัวเองและมีสิทธิที่จะแสดงออกความคิดเห็นเหล่านั้น ซึ่งแน่นอนบ่อยครั้งจะต้องไปขัดแย้งกับความคิดของคนอื่น

ดูๆ แล้วก็วุ่นวายน่ารำคาญเหมือนกัน แต่ถ้าเราคิดดูอีกทีก็ไม่เลวเหมือนกันแฮะ เพราะการหักล้างกันด้วยเหตุผลจะทำให้เราได้ความคิดที่ดีที่สุด

แต่ขอให้เอาชนะกันด้วยคุณภาพของความคิดและเหตุผลก็แล้วกัน ไม่ใช่อาศัยอำนาจที่เหนือกว่ามากำหนดความถูกต้อง

ACLU ยึดมั่นในอุดมการณ์สิทธิเสรีภาพเพื่อป้องกันเผด็จการ แต่ก็ถูกก่นด่าอยู่บ่อยๆ เพราะหลายคนที่ ACLU เข้าไปปกป้องเป็นคนที่สังคมส่วนใหญ่เห็นว่าน่ารังเกียจ บ่อนทำลายศีลธรรมหรือความสุขสงบในสังคม

เช่น Larry Flynt เจ้าของนิตยสารโป๊เช่น Hustler (ซึ่งหลายคนมองอย่างเหยียดหยามว่าเป็น smut = สิ่งลามกจกเปรต) ลงการ์ตูนล้อเลียนนักการเมืองอย่างหยาบคาย โดนฟ้อง ACLU ก็โดดเข้าไปช่วย เพราะถือว่าการล้อเลียนบุคคลสาธารณะเช่นนักการเมืองเป็น protected speech = การพูดที่ได้รับการปกป้องโดยรัฐธรรมนูญ

แม้แต่พวกนาซีและสมาคมเหยียดผิว Ku Klux Klan ก็เคยได้รับความช่วยเหลือจาก ACLU โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
แม้ว่าจะโดนด่า แต่ ACLU ก็ยืนยันว่าจำเป็นที่จะต้องป้องกันสิทธิของแม้แต่คนที่มีความเชื่อน่ารังเกียจ เพราะเขาถือว่าหากเมื่อใดที่สิทธิเสรีภาพของคนเหล่านี้ถูกรัฐย่ำยี ก็ไม่มีหลักประกันว่าในอนาคตรัฐจะไม่ย่ำยีสิทธิเสรีภาพของคนธรรมดาเช่นเราท่านด้วย

ถ้าเมืองไทยเป็นเหมือนอเมริกา ป่านนี้เราคงเห็นองค์กรทำนอง ACLU (TCLU = Thai Civil Liberties Union?) ออกมาปกป้องสิทธิของนายสมัคร สุนทรเวชที่จะวิจารณ์องคมนตรี แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเห็นว่าเป็นการไม่สมควรเพียงใดก็ตาม และทั้งสมัครและ TCLU ก็คงจะถูกด่าเช็ด

สิทธิในการแสดงออกนั้นเป็นสิ่งที่เราเห็นดีเห็นงามได้ง่ายถ้าความคิดเห็นที่แสดงออกมันสอดคล้องหรือไม่ขัดกับความคิดเห็นของเรามากเกินไป

แต่ถ้ามันเป็นความคิดเห็นที่เรารับไม่ได้ เราอาจอยากเพิกถอนสิทธิในการแสดงออกของคนที่พูดคนนั้น หรือถ้าหนักเข้าก็อาจจับเขามาลงโทษซะเลย

การยอมรับสิทธิของคนอื่นที่จะแสดงความเห็นที่เราไม่เห็นด้วยอย่างแรงต้องอาศัยปัญญาและเมตตาธรรมอย่างสูง

ยิ่งถ้าเราอยู่ในตำแหน่งที่กุมอำนาจรัฐ ก็จะไม่ใช่เรื่องยากเลยที่เราจะใช้อำนาจนั้นจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของคนที่เราไม่เห็นด้วย

อดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก John Lindsay (จอน ลิ้นสี่) เคยกล่าวว่า Those who suppress freedom always do so in the name of law and order. = ผู้ที่ปราบปรามเสรีภาพจะอ้างเสมอว่าทำในนามของกฎหมายและความเป็นระเบียบเรียบร้อย

การพูดที่ไม่ได้รับการปกป้องโดยรัฐธรรมนูญก็มีอย่าง hate speech = การพูดที่ปลุกระดมให้คนเกลียดชังกัน (ถ้าจะเป็นกรณีใกล้ตัวของไทยก็เห็นจะเป็นการออกรายการวิทยุโดยคนเช่นคุณสมัคร สุนทรเวช ในช่วง 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งนำไปสู่การสังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

สหรัฐฯ เอง กว่าจะกำหนดได้ชัดเจนว่ารัฐมีอำนาจแค่ไหนที่จะลงโทษคำพูดที่ seditious (เสอะดิ๊ฉั่ส) = เป็นกบฎ หรือ subversive (สับเฟ้อร์สิฟ) = บ่อนทำลาย ก็ใช้เวลาตั้งเกือบ 200 ปี

เพราะอย่างที่ผู้พิพากษา John Harlan ว่า One man's vulgarity is another's lyric. = สิ่งหยาบโลนสำหรับคนหนึ่งกลับเป็นบทเพลงสำหรับอีกคนหนึ่ง (เช่นเดียวกัน รายการทีวีที่คนส่วนใหญ่ดูแล้วเครียด อาจมีบางคนที่ดูแล้วสนุกก็ได้)
สิ่งหนึ่งที่ ACLU พยายามต้านทานคือ tyranny of the majority (เที้ยหรั่นหนี่ อัฟ เธอะ หมะจ๊อหระถี่)

เรารู้จักคำว่า tyrant (ท้ายหรั่นท) = ทรราชย์ อยู่แล้ว ดังนั้นวลีนี้จึงฟังดูเหมือนน่าจะแปลว่า “ความเป็นทรราชย์โดยเสียงข้างมาก” แต่ถ้าจะแปลให้รู้เรื่องมากกว่านั้นก็หมายถึง การเผด็จการโดยเสียงข้างมาก คือการที่เสียงข้างมากบังคับให้เสียงข้างน้อยต้องทำตาม

ในสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งอเมริกาเอง tyranny of the majority มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้มาก (ต่างกับสังคมเผด็จการที่มี tyranny of the minority) เพราะการได้เสียงข้างมากมักจะถูกอ้างเป็นพื้นฐานของความชอบธรรม ทั้งๆ ที่เสียงข้างมากนั้นอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้

ก็ดูอย่างกรณีฮิตเล่อร์นั่นปะไรครับ ได้รับเลือกตั้งมาในระบอบประชาธิปไตย มีเสียงข้างมาก แต่ในที่สุดก็พาประเทศเยอรมันไปสู่ความหายนะ

จะโทษฮิตเล่อร์คนเดียวก็คงไม่ถูก เพราะชาวเยอรมันเป็นคนเลือกเขาขึ้นมา และเมื่อเขาขึ้นมาแล้วก็ยังให้การสนับสนุนเขาต่อ พอเขาใช้อำนาจรัฐในการรังแกข่มเหงชาวเยอรมันเชื้อสายยิวซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในสังคม คนส่วนใหญ่ก็ไม่แสดงอาการเดือดร้อน นี่คงเป็นตัวอย่างของ tyranny of the majority ที่เห็นชัดที่สุด

เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้น อเมริกาจึงมีองค์กรอย่าง ACLU คอยสอดส่องป้องกัน

ACLU ยึดหลักว่าเสรีภาพในการพูดและแสดงออกตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เป็นสิ่งที่ indivisible = แบ่งแยกไม่ได้
หมายความว่าถ้าจะปกป้องก็ต้องปกป้องทั้งหมด ไม่ใช่เลือกปกป้องเฉพาะการแสดงออกที่ทุกคนเห็นพ้องว่าไม่มีพิษภัย เพราะการแสดงออกที่ไม่มีพิษภัยคงไม่มีรัฐที่ไหนคัดค้านหรือปราบปรามอยู่แล้ว

อเมริกาในปัจจุบันมักชอบทำตัวเองเป็นผู้ถือไม้เรียวคอยกำหนดบรรทัดฐานด้านสิทธิเสรีภาพให้กับประเทศอื่นๆ แต่ถ้าไม่มีองค์กรอย่าง ACLU ก็ไม่แน่ว่าอเมริกาจะมีเสรีภาพเหมือนทุกวันนี้

ในอดีต (และหลายคนมองว่าในปัจจุบันด้วย) รัฐบาลอเมริกันละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเป็นเรื่องปกติ มีการออกกฎหมายและอ้างกฎหมายเพื่อปราบปรามการแสดงความเห็นของผู้คัดค้านการเลิกทาส ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา ผู้ที่เรียกร้องสิทธิสตรี ผู้นำแรงงาน ผู้คัดค้านสงคราม สมาชิกของกลุ่มซึ่งรัฐบาลมองว่าหัวรุนแรง ฯลฯ หรือพูดง่ายๆ ใครก็ตามที่รัฐบาลเห็นว่าบ่อนทำลายความสงบสุขของสังคมหรือความมั่นคงของชาติ

ACLU ทำหน้าที่เป็น watchdog คอยควบคุมไม่ให้รัฐบาลใช้อำนาจเกินขอบเขต โดยการฟ้องศาลซึ่งถือว่าเป็นกลางและให้ความยุติธรรมได้ (แม้ว่าในความเป็นจริงแม้แต่ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ก็ยังถูกการเมืองพยายามแทรกแซงเป็นประจำโดยวางตัวผู้พิพากษาที่เชื่อว่ามีอุดมการณ์แนวเดียวกันกับพรรคการเมืองที่อยู่ในอำนาจ)

Watchdog แปลตรงตัวว่า สุนัขเฝ้าบ้าน ครับ เวลาพูดถึงองค์กรก็หมายถึงองค์กรที่ทำหน้าที่สอดส่องดูแลความถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งควบคุมดูแลให้สถาบันที่มีอำนาจล้นฟ้า (เช่นรัฐบาล) อยู่ในร่องในรอย ไม่ใช้อำนาจในทางที่ผิด

การมี watchdogs เยอะๆ บางทีก็อาจสร้างความรำคาญได้เหมือนกันเวลาที่มันเห่ากันขรมไปหมด และรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้ watchdogs มาคอยสอดส่องความไม่ชอบมาพากลของตนก็ย่อมจะพยายามหาประชาชนเป็นแนวร่วม โดยป้ายสีว่า watchdogs เหล่านี้น่ารำคาญบ้าง รับเงินต่างชาติบ้าง

แต่ถ้าไม่มี watchdogs ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของเราท่านในระยะยาวก็คงลดลงไปไม่น้อยหละครับ

No comments: